วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Modernism

ความคิดสมัยใหม่ 
(Modernism) 


ในสมัยศตวรรษที่ 19 กระบวนการ Enlightenment ก่อให้เกิดยุคสมัยใหม่ เป็นยุคแห่งเหตุผล(The Age of Reason) ขึ้นมาแทนที่ศาสนาซึ่งตรึงอยู่กับศรัทธา(Faith) ยุคที่เชื่อในความก้าวหน้า(Progression) ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นฐานให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และแผ่ขยายไปถึงด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงสุนทรียศาสตร์

ด้านเศรษฐกิจ



- เกิดคำที่มีความหมายแบบ เสรีภาพ อิสรภาพ ปัจเจกภาพ
- เกิดการต่อต้านการควบคุมและต้องการหลุดพ้นจากการควบคุมจากโครงสร้างความคิดเก่าทางศาสนา
- เกิดขบวนการประชาธิปไตย (เสรีภาพ, อิสรภาพ, และประชาชน)
- เกิดการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยม (ต่อมาได้ล่มสลายลงในปลายคริสตศตวรรษที่ 20)
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
- ปลายคริสตศตวรรษที่ 18 มีการก่อตั้งสถาบันและกรมศิลปกรขึ้นมา ทำให้เป็นอิสระจากศาสนาและราชสำนัก
- ทั่วโลกถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมตะวันตกโดยผ่านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ต้องการให้มีวัฒนธรรมที่เป็นแบบเดียวกันในการแพร่กระจายผลผลิต
- คนผิวขาว(White Man) เป็นใหญ่ ค่อนข้างมีอิทธิพลครอบงำ และอ้างความมีวัฒนธรรมที่สูงกว่าชนชาติอื่นๆ
- ผู้ชายเป็นใหญ่ ขาดความเสมอภาคระหว่างหญิง/ชาย
ด้านสุนทรียศาสตร์
- มีการเรียกร้องความสดและความใหม่, สไตล์ไม่เหมือนใคร โดยไม่คำนึงถึงความสำคัญของเป้า หมาย(Objective)
- เรียกร้องให้สุนทรียภาพมีความเป็นอิสระจากเรื่องศีลธรรม
- ให้คุณค่าอย่างสูงมากต่อสิ่งใหม่ๆ
- ปฏิเสธความงามที่ปราศจากประโยชน์ใช้สอย ซึ่งเนื่องมาจากยุคพัฒนาทางด้านเครื่องจักร
- ทางด้านสถาปัตยกรรมเกิดแนวคิดแบบ Form Follow Function
- ปฏิเสธลวดลายและสิ่งประดับหันมาชื่นชอบกับรูปทรงเรขาคณิต(แบบเครื่องจักร) และความเรียบง่าย
- ปฏิเสธสไตล์ท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมประจำชาติ ให้การเชิดชูความเป็นสากล(International Styles) ซึ่งก่อให้เกิดแนวทางการออกแบบสมัยใหม่ขึ้น


ในวงการศิลปะและการออกแบบ Modern Art เกิดขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1860 ถึง1970 ซึ่งศิลปินสมัยนั้นได้ทดลองวิธีการใหม่ ในการมองภาพและสร้างสรรค์งาน ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติของวัตถุและองค์ประกอบของของศิลปะ ความคิดแบบนามธรรมเข้ามามีบทบาทและแสดงถึงลักษณะพิเศษของศิลปะแนวใหม่ เกิดรูปแบบศิลปะร่วมสมัย เพราะความคิดของงานศิลปะสมัยใหม่นั้น มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความทันสมัยและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป
แม้ว่างานปติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่จะปรากฏในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แต่การเริ่มต้นของภาพวาดสมัยใหม่ปรากฎออกมาได้เร็วกว่า การกำเนิดของศิลปะแนวใหม่นั้นเริ่มเกิดขึ้นในปี 1863 ซึ่ง Édouard Manet ได้จัดแสดงภาพวาด Le déjeuner sur l'herbe ใน Salon des Refusés ในกรุงปารีส ทำให้เกิดแนวทางที่บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่คือ Romantics, Realists และ Impressionists

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวซึ่งเกิดขึ้นในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 คือแนวทาง Fauvism, Cubism, Expressionism และ Futurism สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้นำจุดจบมาสู่ช่วงนั้น และเกิดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวต่อต้านศิลปะ อาทิเช่นแนวความคิด Dadaism และงานของ Marcel Duchamp ศิลปะและวรรณคดีที่เน้นหนักในเรื่องของจิตใต้สำนึก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพียงไม่กี่ปี ภาวะเศรษฐกิจได้เติบโตอย่างรวดเร็ว เมืองใหญ่ ๆ ในยุโรปและอเมริกาเริ่มฟื้นตัว ผังเมืองมีอาคารสำนักงานขนาดใหญ่และห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น รวมถึงรถยนตร์และถนนหนทางต่างๆ ศิลปินและปัญญาชนต่างก็รวมกันเพื่อก่อตั้งเป็นกลุ่มศิลปินที่มีแนวคิดก้าวหน้า (Avant-garde groups) และในช่วงนี้เองที่ลัทธิ Modernism ได้เติบโตขึ้นอย่างเต็มที่ ในวงการจิตรกรรม จิตรกรเช่น Wassily Kandinsky Piet Mondrien หรือ Casimir Malevich ได้อธิบายถึงหลักการของศิลปนามธรรม (Abstract Art) ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน แนวคิดในเรื่องพื้นที่ว่างและรูปแบบนามธรรมได้ถูกนำไปใช้ในวงการสถาปัตยกรรมและประยุกต์ศิลปแขนงต่างๆ

กลุ่มนักออกแบบ De Stijl (The Style) ซึ่งรุ่งเรืองในช่วงปี 1917 สมาชิกของกลุ่มเช่น Theo van Doesburg และสถาปนิก Gerrit Rietveld ได้นำแนวคิดที่เคร่งครัดของลัทธิเหตุผลนิยม (Rationalism) ซึ่งเป็นแนวคิดทางศิลปที่มีความซับซ้อนมาก พื้นที่ว่างและพื้นผิวที่ได้ตัดทอนรูปทรง ที่แสดงให้เห็นในผลงานของนักออกแบบกลุ่ม De Stijl ซึ่งเน้นองค์ประกอบของรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และนิยมใช้สีสันโดยเฉพาะแม่สีในขั้นที่1 เช่นสีเหลือง สีแดงและสีน้ำเงิน Gerrit Rietveld ได้นำความคิดของเขาออกแบบเก้าอี้ Roodblauwe Stoel (ผลงานในช่วงปี 1918-1924) รวมถึงงานสถาปัตยกรรมของเขาเช่นบ้าน Schroder House ที่สร้างในปี 1924

หนึ่งในศูนย์กลางทางศิลปะที่สำคัญของศิลปินหัวก้าวหน้าในศตวรรษที่ 20 คือกลุ่ม Bauhaus ซึ่งก่อตั้งโดย Walter Gropius ที่เมือง Weimar ในปี 1919 แม้ว่าในตอน เริ่มแรกนั้น จะได้อิทธิพลจากทฤษฎีของกลุ่ม De Stijl แต่ได้ปรับให้เข้ากับการใช้งานจริงและสภาพแท้จริงทางสังคม บรรดาสถาปนิก ช่างฝีมือ จิตรกร ประติมากร และอาจารย์พิเศษจำนวนมากต่างทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายในสถาบัน Bauhaus โดยพัฒนาแนวคิดซึ่งก่อให้เกิดโฉมหน้าของ Modernism ในศิลปประยุกต์ทุกแขนง พวกเขาพยายามค้นคว้าหานิยามบทสรุปที่ว่า การมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยที่นำไปสู่ของการออกแบบ (Functionalist approach to design) ที่จำเป็นต่อมนุษย์ในยุคของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งคำว่ายุคของเครื่องจักร(Machine Age) ได้เกิดขึ้นในยุคนี้เอง

ก้าวที่สำคัญของ Bauhaus คือผลงานเก้าอี้ของ Marcel Breuer ในปี 1925 ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้านพักอาศัยตัวแรกๆ ที่ทำด้วยเหล็กท่อกลม (Tubular steel) และ Ludwig Mies van der Rohe ได้ออกแบบเก้าอี้ตัวแรกที่อาศัยหลักการคานยื่น (Cantilever Chair)

นับตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์เหล็กท่อกลมมีความเหมาะสมต่อการผลิตเฟอร์นิเจอร์อุตสาหกรรมเป็นต้นมา ด้วยผิวสัมผัสที่เย็น รูปลักษณ์ที่ดูสะอาดและแข็งแรง และรูปแบบใหม่ของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมกับยุคสมัย วัสดุชนิดนี้จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วโดยนักออกแบบและสถาปนิก

  ในประเทศฝรั่งเศส สถาปนิกนักออกแบบ Le Corbusier หรือ Rene Herbst และ Eileen Gray เป็นนักออกแบบที่สำคัญและมีอิทธิพลอย่างสูงในกลุ่ม Modernism เฟอร์นิเจอร์เหล็กท่อกลมที่มีชื่อเสียงของพวกเขาซึ่งยังคงบุด้วยหนังแม้ในปัจจุบัน และในผลงานของ Pierre Chareau เราจะเห็นการเชื่อมโยงของศิลป Art Deco ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในฝรั่งเศสช่วงนั้น

ประเทศรัสเซียถือเป็นประเทศแรกที่มีการปกครองภายใต้ระบอบสังคมนิยม นับตั้งแต่การปฏิวัติในเดือนตุลาคมปี 1918 และได้กลายเป็นศูนย์กลางของศิลปหัวก้าวหน้า (Avant-Garde Art) กลุ่มศิลปินในกรุงมอสโคว์ต่างแสวงหารูปแบบที่เป็นนามธรรมและนำไปสู่ทิศทางของการออกแบบ ซึ่งถือเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันในชื่อลัทธิ Constructivism และ Suprematism

Modern Art ได้เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในงานแสดงคลังสรรพาวุธ ในปี 1913 และผ่านทางศิลปินยุโรป ที่ได้ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตอนสงครามโลกครั้งที่1
แม้ว่าอเมริกาจะกลายเป็นจุดรวมของการเคลื่อนไหวทางศิลปะกลุ่มใหม่ แต่ก็แค่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ในช่วงปี 1950 และปี 1960 ได้เห็น การเกิดขึ้นของ of Abstract Expressionism, Color field painting, Pop art, Op art, Hard-edge painting, Minimal art, Lyrical Abstraction, Postminimalism และความหลากหลายทางการเคลื่อนไหวอื่นๆ ในปลายปีช่วง 1960 และปีช่วง 1970 Land art, Performance art, Conceptual art, และรูปแบบศิลปะใหม่ๆอื่นๆ ได้ดึงดูดความสนใจของหัวหน้าผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์และนักวิจารณ์ทำให้เวลานั้น จำนวนของศิลปินและสถาปนิกเริ่มปฏิเสธความแนวความคิดแบบ Modernism ช่วงเวลานี้เองที่เป็นจุดสิ้นสุดของแนวความคิดแบบ Modernism และนำไปสู่แนวความคิดแบบ Postmodernism ในเวลาต่อมา

อ้างอิง
แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern)


ปัจจุบันนั้นมีการสร้างวาทกรรมหลายๆ อย่าง ให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อให้คนในสังคมได้คุ้นชินและซึมซับวาทกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาโดยการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือทั้งการพยายามสร้างวัฒนธรรมที่เป็นสากล post modern จึงได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงการครอบงำทางสังคมผ่านกระบวนการต่าง ๆ ของโลกตะวันตก

โพสต์ โมเดิร์น ก็คือการตั้งคำถามกับโมเดิร์น การที่มีคนใช้คำว่า โพสต์โมเดิร์นคุณประโยชน์ที่สำคัญก็คือ มันทำให้เราสามารถหวนกลับไปมองสังคมโมเดิร์นหรือพฤติกรรมที่ผ่านมาของมนุษย์ หรือความคิดความเชื่อของเราอย่างเป็นอิสระมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่บอกว่า "โพสต์" โมเดิร์น เราก็จะยังจะอยู่ในกรอบของโมเดิร์น หรือยังให้มันครอบเราอยู่ ให้เรารู้สึกว่ายังจะต้องก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ความเจริญ ยึดถือลัทธิความก้าวหน้า ซึ่งเป็นมิติที่ควบคู่กับ civilizing mission ของตะวันตก การบอกว่าโลกเป็น โพสต์ โมเดิร์น หรือเป็นโลกหลังสมัยใหม่ ในเชิงการเมืองนอกจากจะทำให้มนุษย์สามารถมองโลกสมัยใหม่อย่างอิสระ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์มันได้ชัดเจนมากขึ้นมองมันถนัดขึ้น ในทางความรู้ก็ทำให้หลุดพ้นจากกรอบ สมมติฐานแบบโมเดิร์น อย่างเช่น ปรัชญาความเป็นสากล ปรัชญาความก้าวหน้า หรือปรัชญาประเภทที่ต้องมีแก่นแท้ มั่นคง ถาวร เป็นอมตะ ซึ่งเอามาจากคริสต์ศาสนา เรื่องวิญญาณ เรื่องพระเจ้า หรือจากกรีกที่เรียกว่าภาวะอุดมคติ เป็นต้น เพราะฉะนั้นตัวปรัชญาโพสต์ โมเดิร์น จึงเป็นตัวปรัชญาที่แย้งกับความเป็นสากล หรือความเป็นแก่นแท้ที่ขัดแย้งไม่ได้ ล้มล้างไม่ได้ ถกเถียงไม่ได้ 
ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง กล่าวโดยนัยนี้ ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นยังมีระดับจิตต่ำกว่าปรัชญาของพุทธะ ที่มีประสบการณ์โดยตรงในการเข้าถึง "ความจริงสูงสุด" พวกโพสต์โมเดิร์นเห็นว่า มนุษย์ต้องมองต้องคิดผ่านแว่นของภาษา จึงมองว่า ความจริงเป็นแค่สิ่งที่เราสร้างขึ้นโดยระบบของภาษา

ในเมื่อพวกโพสต์โมเดิร์นมองว่า ความจริงเป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้น โดยระบบภาษา โดยสำนวนโวหาร โดยการจูงใจ โดยการบิดเบือน โดยการหลอกลวงซ่อนเร้นภายใต้ความขลังของทฤษฎีหรือวาทกรรมแบบต่างๆ หรือภายใต้ระบบปรัชญาที่ซับซ้อนหรือด้วยภาพลักษณ์ที่ง่ายๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นพวกโพสต์โมเดิร์นจึงนิยมมองโลกข้างนอกทุกๆ อย่างเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่เราจะใส่ความคิด ความเชื่อของเราลงไปยังไงก็ได้ คือเติมตัวความหมาย (signifier) ลงไปได้ เพราะฉะนั้นในสายตาของพวกโพสต์โมเดิร์น โลกทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของมนุษย์จึงเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่มีการช่วงชิงกันเติมความหมาย ความคิดเห็นลงไป การเมืองในยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างในยุคปัจจุบัน จึงเป็นการเมืองของการช่วงชิงพื้นที่ด้านต่างๆ

ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์น ไม่เชื่อว่ามีความจริงเพียงหนึ่งเดียวอยู่แล้ว แต่เห็นว่า "ความจริง" เป็นสิ่งที่มองได้หลายมุมมอง และควรผสมผสานมุมมองที่หลากหลายต่างๆ เข้าด้วยกัน

ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์น ปฏิเสธอำนาจของกรอบ ระเบียบ โครงสร้าง รูปแบบจารีตเดิม และมุ่งแสวงหาการคิดนอกกรอบและแหวกแนวอยู่ตลอด
นักคิดโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อในโลกความจริงที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกของภาษา ซึ่งถ้าหากว่าสิ่งนอกเหนือต่าง ๆ มีอยู่จริงเขาก็ไม่สนใจที่จะต้องไปถกเถียงกัน เพราะว่าถกเถียงไม่ก็ไม่มีข้อสรุปว่าสิ่งไหนถูกผิด เนื่องจากทุกสิ่งถูกการมองโดยโลกของภาษา ซึ่งมีลูกเล่นแพรวพราวทั้งตัวภาษาเองและตัวผู้ใช้ภาษา พวกเขาจึงสนใจที่จะศึกษาเรื่องของภาษา วาทกรรม ตัวบท ซึ่งมีนักคิดคนสำคัญคือ
Jacques Derrida เกิดในอัลจีเรียเขาเสนอวิธีการ deconstruct คือการแสดงให้เห็นว่าเราสามรถถอดรื้อความเห็น ของทฤษฎีหรือวาทกรมใด ๆ ก็ได้ เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงจุดหละหลวมของมัน ซึ่งภาษานั้นก็สามารถที่จะสร้างความหมายลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ เขาจริงถือเป็นภารกิจของเขที่จะถอดรื้อระบบความคิดที่อ้างตัวเองเป็นตัวแทนของความจริง

Michel Foucault เขามุ่งถอดรื้อความคิด ทฤษฎี วาทกรรมที่อ้างตนเองว่าเป็นความรู้ที่เป็นกลางเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เช่น ความรู้ทางการแพทย์ ทางสังคม ทางจิตวิทยา ฯลฯ เขาถอดรื้อให้เห็นว่าความรู้จำนวนมาก รวมทั้งสถาบันต่างๆ ได้ถูสร้างขึ้นมาอย่างมีเงื่อนไขเพื่อปกปิดอำพรางบางอย่าง โดยเฉพาะประโยชน์ทางอำนาจ เพื่อปิดกั้นความรู้และความจริงอื่น ๆ อันเป็นการกดดัน บีบบังคับ บิดเบือน ละเลย หลงลืม อำนาจ หรือการดำรงอยู่ของส่วนอื่น ๆ เช่น ละเลยความสำคัญของจิตใต้สำนึกของร่างกายของคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เช่น เกย์ เลสเบี้ยน เป็นต้น

Jacques Lacan (ค.ศ. 1901-1981) งานของเขาชี้ให้เห็นว่าภาษากำหนดรูปร่างความเป็นไปของจิตใต้สำนึก อารมณ์ปรารถนาของเราตั้งแต่ยังเป็นทารก โลกของภาษาคือโลกของสัญลักษณ์ อำนาจ การครอบงำตั้งแต่วัยทารกจึงทำให้อัต ลักษณ์ของเราแยกจากภาษาไม่ออก

Post Modern วิพากษ์สังคมตะวันตก ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ประเด็นแรก 
โลกโดมเดิร์นไม่ได้นำไปสู่ความเป็นเหตุเป็นผล ความก้าวหน้า หรือความสงบสุขของมนุษย์ แต่มีหลายช่วงที่นำไปสู่ความรุนแรง เช่น สงครามโลก และการฆ่าล้างเผ่าพันต่างๆ

ประเด็นที่สอง ระบบการเมืองของสังคมโมเดิร์นของตะวันตกไม่ได้สะท้อนการกระจายอำนาจที่ดีเพียงพอ พวกเจาจึงเสนอให้มีการกระจายอำนาจสู่ชุมชน อำนาจของประชาสังคม อำนาจของภาคพลเมืองเพิ่มเวทีหรือพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ทางการเมืองให้คนด้อยสิทธิต่าง ๆ

ประเด็นที่สาม สถาบันระบบคุณธรรมของตะวันตก ยังมีคนบีบบังคับ กดดัน บีบคั้น ผู้ด้อยกว่า เช่น แรงงานอพยพต่างๆ คนกลุ่มน้อย และยังมีการกระทำแบบเดียวกันต่อประเทศอื่นๆ ด้วย

ประเด็นที่สี่ องค์ความรู้ของตะวันตกที่สร้างมาในยุคโมเดิร์นมีส่วนสร้างรับใช้และสถาบันทางการเมือง สังคม ศีลธรรม คุก โรงพยาบาล ซึ่งยังมีส่วนในการปิดกั้นและกีดกันผู้ด้อยโอกาสในสิทธิอำนาจตามประเด็นที่สาม

Post modern มองว่า ถึงแม้ว่าอดีตประเทศอาณานิคมจะได้รับเอกราชมานานแล้วแต่ก็ยังมีความคิดที่เป็นอาณานิคมคือคล้อยตามระบบความคิดที่เป็น modernization ที่นิยมชื่นชมความคิด ค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นองค์ความรู้ที่เป็นตะวันตกเป็นอย่างมาก

Post modern มองว่าองค์ความรู้ตั้งแต่ปรัชญา จริยธรรม การเมือง การปกครอง วรรณกรรมคลาสสิค ฯลฯ ทั้งหมดเป็นเพียงเพื่อสร้างภาพสร้างตัวตนที่ดีงามมีเหตุผลให้ตะวันตก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไปกดทับ เพิกเฉย ละเลย ลืมประวัติศาสตร์ของตัวตน การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมของผู้อื่นหรือคนอื่นเป็นการยกย่องประวัติศาสตร์และให้คุณค่าในเรื่องของตนเองและลดคุณค่าในเรื่องที่เป็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นวิธีการคิดแบบแยบยล

ลักษณะศิลปะ Post modern 
1. การปฏิเสธศูนย์กลาง ซึ่งก็คือ การปฏิเสธอำนาจครอบงำ เน้นชายขอบซอกมุม เพื่อปลดเปลื้องการครอบงำทางเวลา เทศะและอัตลักษณ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ ดังปรากฏในสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่เลิกเน้นศูนย์กลาง

2. การปฏิเสธความเป็นเอกภาพ หรือ องค์รวม ภาพเขียนหรือสถาปัตยกรรมจึงไม่จำเป็นต้องจบสมบูรณ์ อาจเป็นหลายเรื่องซ่อนเร้นกัน

3. Post modern คัดค้านโครงสร้าง ระเบียบ ลำดับ ไม่ยึดติดกับโครงสร้างเพราะถือได้ว่าเป็นแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม

4. Post modern ปฏิเสธจุดเริ่มต้น จึงปฏิเสธประวัติศาสตร์แต่โหยหาอดีต เนื่องจากความไม่มั่นคงทางอัตลักษณ์ อดีตของพวกเขาไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นการทำลายประวัติศาสตร์เพราะมันถูกนำมาอยู่ในปัจจุบันหรือหลุดไปจากบริบทอย่างสิ้นเชิง

ความคิดโพสต์โมเดิร์นเป็นทั้งการวิพากษ์และการตั้งคำถามที่มีต่อโลกแบบโมเดิร์นของตะวันตก ซึ่งมองว่าการสร้างสังคมสมัยใหม่ของโลกตะวันตกที่ได้กำเนินมานั้นไม่ได้พัฒนาความสุข การหลุดพ้น หรือชีวิตที่เป็นเหตุเป็นผล อย่างที่กล่าวอ้างกัน เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมผ่านภาษา เพียงเพื่อครอบงำสังคมอื่นเพื่อชิงความได้เปรียบในหลายปัจจัย
อ้างอิง
ธีรยุทธ บุญมี, โลก โมเดิร์น โพสต์ โมเดิร์น . วิญญูชน.พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : 2550